เราควรขอบคุณโบ บรัมเมลล์ (Beau Brummell) เพราะเขาคือฮิปสเตอร์ยุคบุกเบิก ผู้คิดค้นต้นแบบชุดสูทตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ซึ่งมาจากเครื่องแบบสุภาพบุรุษของชาวอังกฤษที่ใส่กันในราชสำนักมาช้านาน ทั้งเทลโค้ต (Tailcoat) กางเกงความยาวระดับหัวเข่าที่เรียก Breeches ถุงน่องผ้าไหม และวิกผมลงแป้ง ซึ่งถูกตัดทอนจนเหลือแค่แจ๊กเก็ตสูทกับกางเกงขายาวที่มีหน้าตาคล้ายกับชุดสูทที่เราใส่กันในปัจจุบัน จากนั้นการแต่งตัวรูปแบบนี้ก็แพร่กระจายไปทั่วราชสำนัก และถูกปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
1900s
เราอยากให้คุณลองนึกภาพสุภาพบุรุษจากภาพยนตร์เรื่อง Titanic เพราะผู้ชายยุคนี้แต่งตัวด้วยชุดสูทสมัยใหม่ที่ถูกปลดแอกจากรั้วราชสำนัก มาเป็นชุดสูทสามชิ้นโทนสีเข้มที่ทำจากผ้าวูลมีน้ำหนักมาก ซึ่งแจ๊กเก็ตสูทของผู้ชายชาวอังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งเป็นผู้นำแฟชั่นในขณะนั้นจะสวมแจ๊กเก็ตสูทที่ตัดเย็บให้มีโครงสร้างที่บานออกไม่เข้ารูป แต่ถ้าข้ามมหาสมุทรไปฝั่งอเมริกาจะเป็นรูปทรงตรงกันข้าม เพราะผู้ชายส่วนใหญ่จะสวมแจ๊กเก็ตสูทกระดุมสี่เม็ดกับปกสูทเล็ก แต่ปกเชิ้ตมีความสูงกว่าปกติ นอกจากนี้ยังสวมเวสต์โค้ตแบบกระดุมสองแถวอีกด้วย
1920s
ผ่านมาจนถึงช่วงเวลาฟู่ฟ่าของยุคแจ๊ส (Jazz Age) นี่คือช่วงเวลาแห่งการอวดร่ำอวดรวยของเศรษฐีใหม่ฝั่งอเมริกัน ชุดสูทที่ใส่จึงเต็มไปด้วยสีสันบวก กางเกงเอวสูงทรงแบ็กกี้อย่างที่เคยเห็นจากภาพยนตร์เรื่อง The Great Gatsby ทั้งสองเวอร์ชั่น นอกจากนี้ยังตกแต่งการแต่งตัวให้หรูหราขึ้นด้วยเข็มตกแต่งปกสูทและไทบาร์
1930s
นี่คือช่วงเวลาที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ชายยุคนี้จึงแต่งกายด้วยชุดสูทตัวโคร่งยืนต่อแถวรอรับการบริจาคอาหาร ยกเว้นกลุ่มมาเฟียขาใหญ่ประจำเมืองนำทีมโดยอัล คาโปน (Al Capone) ที่ยังคงแต่งตัวจัดเต็มด้วยชุดสูทกระดุมสองแถว หรือนักแสดงและนักร้องชื่อดังนามเฟรด แอสแตร์ (Fred Astaire) ที่มักปรากฏกายด้วยชุดสูทกระดุมเม็ดเดียวแบบพอดีตัว
1940s
เมื่อก้าวเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ้าวูลและผ้าทวีดก็ถูกนำไปใช้สำหรับตัดเครื่องแบบทหารจนขาดตลาด ผู้ชายยุคนั้นจึงหันไปใส่ชุดสูทผ้าเรยอนซึ่งเป็นเส้นใยสังเคราะห์แทน จากที่เคยใส่ชุดสูทสามชิ้นก็ถูกลดทอนให้เหลือเพียงแค่สองชิ้นเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในยุคสมัยนั้น
1950s
เมื่อช่วงเวลาของสงครามผ่านพ้นไป แฟชั่นและการแต่งตัวก็กลับมามีบทบาทมากขึ้น ด้วยชุดสูทโทนสีเข้มใส่คู่กับเชิ้ตขาว เนกไทสีเข้ม และพ็อกเก็ตสแควร์สีขาว แต่สไตล์ที่แตกต่างกว่าใครที่สุดคงต้องยกให้เอลวิส เพรสลีย์ (Elvis Presley) ที่ฉีกทุกกฎด้วยแจ๊กเก็ตสูทตัวโคร่งสวมคู่กับเชิ้ตโปโลและกางเกงในระดับเอวปกติจนดูเท่แซงหน้าทุกคน
1960s
นี่คือช่วงเวลาของแก๊งผู้ชายในซีรีส์เรื่อง Mad Men กับชุดสูทที่หน้าตาคล้ายชุดสูทที่เราใส่ในปัจจุบันที่สุด เพราะชุดสูทยุคนี้ถูกปรับสัดส่วนทุกอย่างให้สลิมมากขึ้น ตั้งแต่ปกสูท กางเกง ไปจนถึงเนกไท ดูได้จากชุดสูทที่อดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ สวมใส่ หรือจากวงดนตรีชื่อดังจากเกาะอังกฤษนาม The Beatles เป็นต้น
1970s
หากทศวรรษที่ผ่านมานั้น ชุดสูทถูกทำให้มีโครงสร้างเล็กลง ทศวรรษนี้ก็คือสิ่งที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เพราะปกเชิ้ต ปกสูท และขากางเกงนั้นถูกขยายให้กว้างและใหญ่ขึ้นกว่าปกติ โดยผ้าที่ใช้ส่วนใหญ่นั้นเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์ บวกกับสีสันและลวดลายแสบสันของสไตล์ดิสโก้ ซึ่งสไตล์ไอคอนคนดังในยุคนี้ก็มีทั้งเดวิด โบวี่ (David Bowie) และจอห์น ทราโวลตา (John Travolta) จากภาพยนตร์เรื่อง Saturday Night Fever
1980s
ไหล่ใหญ่ พับชายแขนสูทขึ้น และอาร์มานี คือคำจำกัดความของยุคนี้ ลองนึกภาพริชาร์ด เกียร์ ในชุดสูทอิตาเลียนจากภาพยนตร์เรื่อง American Gigolo ก็ได้ แต่ถ้าคุณข้ามไปยังฝั่งอังกฤษ การแต่งตัวนั้นจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมโพสต์พังค์ (Post-Punk) จึงทำให้วัยรุ่นยุคนั้นแต่งตัวกันด้วยแจ๊กเก็ตสูทวินเทจ ผสมกับเชิ้ต กางเกงยีนส์ขาด และเนกไทเท่ๆ
1990s
ดูเหมือนโครงสร้างของแจ๊กเก็ตสูทตัวโคร่งจะยังติดอยู่ในทศวรรษนี้ เปลี่ยนไปตรงที่เนกไทที่ใส่มีขนาดใหญ่มาก แถมยังแน่นไปด้วยลวดลายตั้งแต่ลายเพสลีย์ (Paisley) สีสันสดไปจนถึงตัวการ์ตูนต่างๆ ซึ่งผสมเบ็ดเสร็จแล้วออกมาคล้ายกับลุคของนายธนาคารวอลล์สตรีท
2000s
เมื่อยุคมิลลิเนียมมาถึง ทางเลือกในการสวมชุดสูทของผู้ชายยุคนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ชุดสูทที่เคยผิดรูปผิดส่วนนั้นก็ถูกนำมาปรับแต่งใหม่ให้เข้ารูปขึ้นจนดูพอดี อย่างชุดสูทสไตล์คลาสสิกของทอม ฟอร์ด (Tom Ford) ที่ออกแบบให้กุชชี่ (Gucci) หรือเข้ารูปแบบเอ็กซ์ตรีมจากฝีมือการออกแบบของเอดี้ สลิมาน (Hedi Slimane) สมัยที่ยังออกแบบให้แบรนด์ดิออร์ ออมม์ (Dior Homme) ไปจนถึงการนำรองเท้าสนีกเกอร์มาใส่คู่กับชุดสูทซึ่งเป็นการแหกกฎจากที่เคยเป็นมา