ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1949 เจ้าหญิงมาร์กาเร็ตทรงรับการฉายพระรูปโดย Cecil Beaton ณ พระราชวังบักกิงแฮม เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 19 พรรษา เจ้าหญิงทรงสวมชุดผ้าทูลล์สีขาว ระบายตกตรงช่วงไหล่ เข้าชุดด้วยกระโปรงและท่อนบนที่ปักเลื่อมเป็นรูปผีเสื้อ บริเวณข้อพระกรข้างซ้าย เหนือดอกไม้กลีบสีชมพูที่เจ้าหญิงทรงประคองไว้แน่น คือสร้อยข้อมือไข่มุกสองสายพร้อมตัวเกี่ยวประดับเพชร
เมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา สร้อยข้อมือไข่มุกอันเลอค่าได้รับการลงประมูลโดย Dix Noonan Webb ในกรุงลอนดอน และถูกประมูลไปในราคา 320,000 ปอนด์ มากกว่าราคาขายที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 30,000 ถึง 40,000 ปอนด์ หลายเท่าตัว
ควีนแมรี่ ที่มีศักดิ์เป็นพระอัยยิกาของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต น่าจะเป็นผู้ที่มอบเครื่องประดับชิ้นนี้ให้กับพระองค์เนื่องในโอกาสที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุครบ 18 พรรษา ในหนังสือ The Queen’s Jewels: The Personal Collection of Queen Elizabeth โดย Leslie Field มีการกล่าวถึงเซ็ตสร้อยคอและสร้อยข้อมือไข่มุกที่เจ้าหญิงได้รับเป็นของขวัญสำหรับการก้าวเข้าสู่ช่วงวัยผู้ใหญ่ Frances Noble หัวหน้าฝ่ายเครื่องประดับจาก Dix Noonan Webb เชื่อว่านั่นคือสร้อยข้อมือที่ได้รับการกล่าวถึง แม้จะไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตามที โดยมีการคาดการณ์ว่าสร้อยข้อมือไข่มุกเส้นนี้ได้รับการรังสรรค์ขึ้นในช่วงปี 1925
ลายแสตมป์รูปตัว “M” บอกเป็นนัยว่าไข่มุกได้รูปเหล่านี้มาจาก Mikimoto ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างจะทันสมัยสำหรับยุคนั้น ‘มิกิโมโต้’ คือแบรนด์เครื่องประดับสัญชาติญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักจากไข่มุกเลี้ยง หรือไข่มุกที่ได้รับการดูแลภายใต้สภาพแวดล้อมที่ได้รับการควบคุม ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกรุงลอนดอนช่วงปี 1900s “ไข่มุกจากมิกิโมโต้เริ่มเข้ามาบุกตลาดและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะราคาถูกกว่าไข่มุกธรรมชาติหลายเท่าตัว” โนเบิลกล่าว
แต่กลับกลายเป็นว่า ตัวเคสสำหรับใส่สร้อยไข่มุกนั้นมาจากคาร์เทียร์ โดยได้รับการสรรสร้างขึ้นมาในสไตล์อาร์ตเดโค เหลี่ยมมุมของตัวเกี่ยวประดับเพชรมีรูปร่างคล้ายคลึงกับโล่กำบัง และโนเบิลยังคาดการณ์อีกด้วยว่าเพชรประดับนี้มีมูลค่ารวมถึงหนึ่งกะรัต ข้างในตัวเกี่ยวมีการสลักรูปตัว M ประดับมงกุฎ ตราสัญลักษณ์ประจำตัวเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต
เพชร Brilliant cut เม็ดเล็กประดับอยู่ระหว่างไข่มุกและตราสัญลักษณ์ถือเป็นรายละเอียดอันประณีตที่มักจะถูกมองข้ามเมื่อแรกเห็น “มันสวยงามมาก และเปล่งประกายเมื่อต้องแสงไฟ” โนเบิลกล่าว
จากที่กล่าวมาทั้งหมด แทบจะมั่นใจได้ว่าสร้อยข้อมือไข่มุกชิ้นนี้ได้รับการสั่งทำขึ้นมาเป็นพิเศษ หาใช่ชิ้นงานที่คู่แข่งตลอดกาลอย่างมิกิโมโต้และคาร์เทียร์ร่วมมือกันสร้างสรรค์ขึ้น โนเบิลคาดการณ์ว่าราชวงศ์น่าจะสั่งทำสร้อยข้อมือไข่มุกและหลังจากนั้นจึงไปหาคาร์เทียร์ หนึ่งในผู้รังสรรค์เครื่องประดับให้แก่ราชวงศ์อังกฤษอย่างเป็นทางการ เพื่อจัดทำเคสออกมาในสไตล์อาร์ตเดโค “ถือเป็นเครื่องประดับที่โก้เก๋มากสำหรับยุค 1920s และเป็นชิ้นงานที่บ่งบอกถึงความงดงามที่มาพร้อมสไตล์ที่ดูร่วมสมัย” โนเบิลกล่าว เหมาะสมสำหรับเจ้าหญิงยุคใหม่ด้วยประการทั้งปวง
หลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ตในปี 2002 เครื่องประดับส่วนพระองค์ รวมถึงสร้อยข้อมือเส้นนี้ ได้ถูกนำไปประมูล ผ่านมาเกือบสองทศวรรษ ผู้ซื้อในครานั้นตัดสินใจลงขายเครื่องประดับชิ้นสำคัญอีกครั้งหนึ่ง และผลที่ได้ ทำให้ผู้คนได้ยลโฉมคอลเลกชั่นเครื่องประดับอันเลอค่าของเจ้าหญิงผู้ล่วงลับอีกครั้งหนึ่ง